https://www.facebook.com/anutra.md #Anutra Chittinandana

หลังจากที่เริ่มทำงานในฐานะประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 5 พ.ค.63 ประชุมกรรมการบริหารครั้งแรกก็มีความเห็นตรงกันว่าในภาวะ COVID-19 นี้ ราชวิทยาลัยฯ น่าจะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็น COVID-19 ด้วย เพราะในขณะที่มีการระบาด อาจทำให้ผู้ป่วยทางอายุรกรรมโรคอื่นๆ ได้รับการดูแลไม่เต็มที่เท่าที่ควร เลยนำเรื่องการทำหัตถการทางอายุรศาสตร์มาทำเป็นเรื่องแรก

ได้เชิญนายกสมาคมด้านอายุรศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อย่างเร่งด่วนภายใน 1 สัปดาห์ มาร่วมการประชุมครั้งแรกผ่านระบบ ZOOM เมื่อ 12 พ.ค.63 หลังจากนั้นก็ได้ร่างแนวทางเวชปฏิบัติฉบับนี้ขึ้น ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ที่ร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำในปรับปรุงร่างเป็นอย่างดี จนได้เป็นแนวทางเวชปฏิบัตินี้ภายใน 1 สัปดาห์หลังการประชุม และได้รับอนุมัติจากกรรมการบริหารราชวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านด้วยครับ

สามารถ download อ่านฉบับเต็มได้ที่ www.rcpt.org/index.php/announce/691-truthaboutcovid-19.html

แนวทางเวชปฏิบัติการทำหัตถการทางอายุรศาสตร์
ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 1 ข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการ
พิจารณาทำหัตถการทางอายุรศาสตร์ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการเท่านั้น บนพื้นฐานของการประเมินสถานการณ์การระบาดตามสถานภาพของโรงพยาบาล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ทีมรักษาพยาบาล และผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่มารักษาในโรงพยาบาล

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 2 การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
การทำหัตถการทางอายุรศาสตร์ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ต้องยึดถือหลักการของมาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ (Standard precautions) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อน/หลังสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงการล้างมือในทุกขั้นตอนของการถอดอุปกรณ์ PPE ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากาก surgical mask ซึ่งใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตลอดเวลาการทำหัตถการ เพื่อไม่ให้ละอองน้ำมูก เสมหะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสภาพแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วยและการกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 3 การคัดกรองผู้ป่วย
จัดให้มีระบบคัดกรองผู้ป่วยทุกรายในด้านความเสี่ยงต่อ COVID-19 เป็นหนึ่งในการประเมินทางการแพทย์ก่อนการทำหัตถการตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรค (Patient Under Investigation, PUI) ควรเลื่อนการทำหัตถการไปก่อน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด COVID-19 (Severe Acute Respiratory Syndrome COronaVirus 2, SARS-CoV-2) ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการแบบฉุกเฉินให้ทำหัตถการเสมือนกับผู้ป่วย COVID-19

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 4 การแบ่งประเภทผู้ป่วย
เมื่อมีการคัดกรองแล้ว ก่อนการทำหัตถการให้แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 (ผู้ป่วย COVID-19)
2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (PUI) ที่รอผลการตรวจเชื้อ SARS-CoV-2
3. ผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (Non-PUI) หรือผู้ป่วย PUI ที่ไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 5 การแบ่งประเภทของหัตถการทางอายุรศาสตร์
ให้แบ่งหัตถการทางอายุรศาสตร์ตามความเสี่ยงต่อการแพร่ COVID-19 เป็น 2 ประเภท ตามตารางที่ 1 ได้แก่
1. หัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol Generating Procedure, AGPs) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ SARS-CoV-2 สูง และ
2. หัตถการที่ไม่ทำให้เกิดละอองลอย (Non-Aerosol Generating Procedures, Non-AGPs) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ SARS-CoV-2 ต่ำ

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 6 การทำหัตถการ AGPs ในผู้ป่วย COVID-19
ควรทำโดยผู้ชำนาญที่สุดในโรงพยาบาล ในห้อง airborne infection isolation room (AIIR) หรือ Modified AIIR ในกรณีที่ไม่มีอาจทำในห้องแยกเดี่ยว (single isolation room) ที่ปิดประตูตลอดเวลา และจัดให้มีการถ่ายเทอากาศสู่ภายนอกอาคารที่โล่งหรือมีระบบบำบัดอากาศตามความเหมาะสมของบริบทแต่ละโรงพยาบาล ด้วยเครื่องมือที่มีความพร้อม หลีกเลี่ยงการเรียนการสอนทำหัตถการในผู้ป่วย เพื่อให้สามารถทำหัตถการในเวลาน้อยที่สุด ผู้ทำหัตถการควรใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ SARS-CoV-2 โดยให้ถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงมาก ผู้ทำหัตถการควรสวมหมวก ใส่ goggles และ face shield ใส่หน้ากาก N-95, N-99, N-100 หรือ P-100 สวม protective gown สวมถุงมือ และ leg cover ในกรณีการทำหัตถการแบบรุกล้ำที่ระบบทางเดินหายใจโดยตรงอาจพิจารณาสวม PAPR แทนหน้ากาก (ถ้ามี) และใส่ cover all (ถ้าไม่มีให้ใช้ protective gown)

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 7 การทำหัตถการ Non-AGPs ในผู้ป่วย COVID-19
ควรทำโดยผู้ชำนาญที่สุดในโรงพยาบาล ในห้องแยกเดี่ยว (single isolation room) ที่ปิดประตูตลอดเวลา และจัดให้มีการถ่ายเทอากาศสู่ภายนอกอาคารที่โล่งหรือมีระบบบำบัดอากาศตามความเหมาะสมของบริบทแต่ละโรงพยาบาล ด้วยเครื่องมือที่มีความพร้อม หลีกเลี่ยงการเรียนการสอนทำหัตถการในผู้ป่วย เพื่อให้สามารถทำหัตถการในเวลาน้อยที่สุด ผู้ทำหัตถการควรใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ SARS-CoV-2 โดยให้ถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงปานกลาง ผู้ทำหัตถการควรสวมหมวก ใส่ goggles และ face shield ใส่หน้ากาก surgical mask สวมถุงมือ ใส่ protective gown
หากผู้ป่วยมีอาการไอมากหรือต้องทำหัตถการที่ต้องใช้เวลานานให้ถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงมาก และปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ 6 การทำหัตถการ AGPs ในผู้ป่วย COVID-19

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 8 การทำหัตถการ AGPs ในผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (PUI) ที่รอผลการตรวจเชื้อ SARS-CoV-2
ควรเลื่อนการทำหัตถการไปก่อน จนกว่าจะได้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการ AGPs แบบฉุกเฉินให้ทำหัตถการตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ 6 การทำหัตถการ AGPs ในผู้ป่วย COVID-19

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 9 การทำหัตถการ Non-AGPs ในผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (PUI) ที่รอผลการตรวจเชื้อ SARS-CoV-2
ควรเลื่อนการทำหัตถการไปก่อน จนกว่าจะได้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการ Non-AGPs แบบฉุกเฉินให้ทำหัตถการแบบเดียวกับแนวทางเวชปฏิบัติที่ 7 การทำหัตถการ Non-AGPs ในผู้ป่วย COVID-19

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 10 การทำหัตถการ AGPs ในผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (Non-PUI) หรือผู้ป่วย PUI ที่ไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2
สามารถทำหัตถการที่จำเป็นได้ รวมถึงการเรียนการสอนหัตถการในผู้ป่วย โดยใช้หลักการของมาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ (Standard precautions)3 ให้ถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ทำหัตถการควรสวมหมวก ใส่ goggles และ face shield ใส่หน้ากาก surgical mask สวมถุงมือ และใส่ protective gown

แนวทางเวชปฏิบัติที่ 11 การทำหัตถการ Non-AGPs ในผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรค (Non-PUI) หรือผู้ป่วย PUI ที่ไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2
สามารถทำหัตถการที่จำเป็นได้ รวมถึงการเรียนการสอนหัตถการในผู้ป่วย โดยใช้หลักการของมาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ (Standard precautions)3 ให้ถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ทำหัตถการควรสวมหมวก ใส่ goggles และ face shield ใส่หน้ากาก surgical mask สวมถุงมือ และใส่ protective gown

Total Page Visits: 2818 - Today Page Visits: 1